เหตุผลที่ HR ในประเทศไทยยังก้าวสู่บทบาทพันธมิตรทางธุรกิจ (HR Business Partner – HRBP) ได้ไม่เต็มที่

เหตุผลที่ HR ในประเทศไทยยังก้าวสู่บทบาทพันธมิตรทางธุรกิจ (HR Business Partner - HRBP) ได้ไม่เต็มที่
HR Business Partner ในประเทศไทย - ภาพแสดงนักทรัพยากรบุคคลกำลังนั่งประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูง วางแผนกลยุทธ์ธุรกิจร่วมกัน สื่อถึงการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจของฝ่าย HR

บทบาท HR Business Partner (HRBP) ได้รับการพูดถึงอย่างแพร่หลายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา องค์กรจำนวนมากเริ่มมองว่า HRBP เป็นกุญแจสำคัญในการเชื่อมโยงกลยุทธ์ด้านบุคลากรเข้ากับเป้าหมายทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม หลายองค์กรในประเทศไทยยังไม่สามารถผลักดัน HR สู่บทบาทนี้ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งบทความนี้จะมาวิเคราะห์สาเหตุหลักๆ ของเรื่องดังกล่าว พร้อมแนวทางการแก้ไขเพื่อให้ HR ในประเทศไทยสามารถก้าวสู่บทบาท HRBP ได้อย่างเต็มศักยภาพ

🧐 Fun Fact: องค์กรที่สร้าง HRBP ที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานได้มากถึง 22% เพิ่มการรักษาพนักงานได้มากถึง 24% เพิ่มรายได้ได้มากถึง 7% และเพิ่มกำไรได้มากถึง 9% (Gartner)

อุปสรรคสำคัญสำหรับ HR ในประเทศไทย ในการเปลี่ยนแปลงสู่บทบาท HRBP

1. ภาระงานธุรการที่รัดตัว (Heavy Administrative Workload)

HR กำลังจมอยู่กับงานเอกสารและงานธุรการจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงภาระงานที่หนักและไม่มีเวลาทำงานเชิงกลยุทธ์ มีคอมพิวเตอร์และกองเอกสารล้นโต๊ะทำงาน

HR ในไทยยังติดอยู่กับงานปฏิบัติการมากกว่างานเชิงกลยุทธ์: HR ในหลายองค์กรยังคงรับภาระหนักในงานธุรการ เช่น การคำนวณเงินเดือน การดูแลสวัสดิการ และการจัดการเอกสารต่างๆ ทำให้ไม่มีเวลาทำงานด้านกลยุทธ์ใกล้ชิดกับผู้บริหาร

หลายองค์กรยังไม่ได้ใช้ HR Tech อย่างเต็มประสิทธิภาพ: การใช้ระบบ HRIS, ระบบอัตโนมัติ (Robotic Process Automation - RPA) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) สามารถช่วยลดเวลาทำงานเอกสารที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เช่น การประมวลผลข้อมูลพนักงาน และการคำนวณเกี่ยวกับสวัสดิการต่างๆ เป็นต้น ช่วยลดความผิดพลาด และเพิ่มความเร็วในการทำงานได้มาก แต่ HR ในองค์กรหลายแห่งในประเทศไทย ยังไม่สามารถผลักดันให้เกิดการลงทุนในระบบต่างๆ เหล่านี้ได้

แนวทางการแก้ไข:

💡 ผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาใช้ในงาน HR: การนำระบบต่างๆ มาช่วยในการทำงานนั้น ต้องอาศัยงบประมาณในการลงทุน ไม่ต่างจากเรื่องอื่นๆ ในองค์กร ดังนั้น HR ต้องมีทักษะในการบริหารจัดการงบประมาณของตนเอง เพื่อให้เพียงพอต่อการลงทุน หรือหากมีความจำเป็นต้องของบประมาณเพิ่มบางส่วน ก็ต้องมีทักษะในการนำเสนอผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Investment - ROI) เพื่อให้ผู้บริหารมองเห็นความสำคัญของผลลัพธ์ทางธุรกิจและพิจารณาอนุมัติ

🧐 Fun Fact: จากการศึกษาในปี 2023 พบว่าองค์กรที่ใช้ Generative AI ขั้นสูงในการดำเนินงานด้านทรัพยากรบุคคล สามารถประหยัดต้นทุนด้านทรัพยากรบุคคลโดยรวมได้ 20-40% (McKinsey & Company) และผลิตภาพของทีมงาน HR เพิ่มขึ้น 20% (PwC HR Tech Survey)

2. การขาดความเฉียบคมทางธุรกิจและการสนับสนุนจากผู้บริหาร (Lack of Business Acumen & Executive Support)

ภาพการประชุมระดับผู้บริหารที่ไม่มีตัวแทนจาก HR เข้าร่วม แสดงให้เห็นถึงการขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ขององค์กร

HR จำนวนมากยังขาดความเฉียบคมทางธุรกิจ: หลายองค์กรยังมองว่า HR เป็นฝ่ายสนับสนุนที่ดูแลพนักงาน มากกว่าการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ ส่งผลให้ HR ขาดโอกาสในการเข้าไปมีบทบาทในวงประชุมสำคัญขององค์กร

วัฒนธรรมองค์กรไทยยังให้ความสำคัญกับลำดับชั้นมากเกินไป: HRBP ต้องกล้าแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะกลยุทธ์ด้านบุคลากรอย่างมั่นใจ แต่ในบางองค์กรนั้น HR ยังไม่สามารถแสดงบทบาทดังกล่าวได้ หรืออาจไม่มีอำนาจตัดสินใจที่แท้จริง

แนวทางการแก้ไข:

💡 พัฒนาทักษะเชิงธุรกิจ: HR ควรสร้างโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมในองค์กร ที่เกี่ยวข้องกับการตลาด การเงิน และการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มความเข้าใจในภาพรวมขององค์กร HR ที่เข้าใจเป้าหมายธุรกิจ จะสามารถช่วยออกแบบกลยุทธ์การบริหารบุคลากรให้สอดคล้องกับการเติบโตขององค์กร เช่น วางแผนกำลังคนให้สามารถรองรับเป้าหมายการขยายตลาดใหม่ เป็นต้น

💡 สร้างความสัมพันธ์กับฝ่ายบริหาร: HR ควรศึกษากลยุทธ์และแผนธุรกิจขององค์กรให้มากขึ้น เพื่อเข้าใจว่าผู้บริหารให้ความสำคัญกับอะไร เริ่มสนทนากับผู้บริหารสายงานอื่นๆ โดยเชื่อมโยงการบริหารทรัพยากรบุคคลเข้ากับผลลัพธ์ทางธุรกิจที่เขาสนใจ เพื่อสร้างเครือข่าย และใช้โอกาสจากการเข้าร่วมประชุมเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าไปมีส่วนร่วมในเชิงกลยุทธ์ เพื่อให้ได้รับการยอมรับในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจ

💡 จัดทำกรณีศึกษา: นำเสนอ/ประชาสัมพันธ์ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ผลกระทบเชิงบวก และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการนำรูปแบบการทำงานของ HRBP มาใช้ เพื่อเพิ่มการรับรู้ของผู้บริหาร

🧐 Fun Fact: ในบริษัทข้ามชาติหลายแห่ง เช่น Google, Microsoft และ FedEx เป็นต้น HRBP มีที่นั่งในที่ประชุมระดับ C-Level เพื่อให้สามารถเสนอแนะกลยุทธ์ด้านคนที่สอดคล้องกับเป้าหมายองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. การขาดทักษะการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยี (Lack of Data & Digital Skills)

HR กำลังพยายามวิเคราะห์ข้อมูลบุคลากรผ่านแดชบอร์ดและกราฟต่างๆ แต่ดูสับสนและไม่มั่นใจในการตีความข้อมูล แสดงถึงการขาดทักษะด้าน HR Analytics

HR จำนวนมากยังขาดความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลบุคลากรเชิงลึก (HR Analytics): ข้อมูลต่างๆ อาทิ อัตราการลาออกและสาเหตุ ระดับความผูกพันของพนักงาน เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่ HRBP ต้องใช้ในการทำงานเชิงกลยุทธ์ แต่ HR ไทยยังขาดทักษะในการวิเคราะห์และใช้ข้อมูลเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์

การเตรียมข้อมูลยังล่าช้า: HRBP ต้องสามารถใช้เทคโนโลยีในการจัดทำข้อมูลประกอบการตัดสินใจ แต่หลายองค์กรยังคงใช้ระบบจัดเก็บข้อมูลที่ล้าสมัย หรือถึงแม้มีระบบที่ทันสมัย แต่ HR มักมีบทบาทในการจัดการข้อมูลเบื้องต้นมากกว่าการนำข้อมูลออกมาวิเคราะห์ ทำให้ต้องใช้เวลาในการจัดทำข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์

แนวทางการแก้ไข:

💡 เข้ารับการฝึกอบรมด้าน HR Analytics: อาจเริ่มต้นจากการทดลองเรียนออนไลน์ฟรีจากองค์กร/เว็บไซต์ที่เชื่อถือได้ ขอคำแนะนำจากนักวิเคราะห์ในแผนกต่างๆ ขององค์กร หรือฝึกฝนการใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลที่องค์กรมีอยู่แล้ว เช่น ฟังก์ชันต่างๆ ใน Excel หรือการสร้าง Dashboard ใน Power BI เป็นต้น เพื่อเสริมสร้างทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลและการใช้เครื่องมือดิจิทัล

💡เรียนรู้และสร้างสรรค์แนวทางการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด: ความเข้าใจการทำงานของระบบต่างๆ อย่างถ่องแท้ ทำให้สามารถเรียกใช้งานข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ได้อย่างคล่องแคล่ว รวมถึงสามารถออกแบบและ/หรือบูรณาการเทคโนโลยีที่มีให้เข้ากับกระบวนการทำงานอื่นๆ ได้ ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นในภาพรวม

🧐 Fun Fact: องค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงมีแนวโน้มที่จะใช้เครื่องมือและซอฟต์แวร์เฉพาะทางในการวิเคราะห์ข้อมูลบุคลากรมากกว่าองค์กรที่มีประสิทธิภาพต่ำถึง 2 เท่า (Deloitte)

4. การเมืองในองค์กรและทัศนคติแบบเดิม (Organizational Politics & Traditional Mindset)

ภาพแสดงความขัดแย้งระหว่างแนวคิดการทำงานแบบเดิมกับแนวคิดใหม่ในองค์กร มีสัญลักษณ์แสดงการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงและการเมืองในองค์กรที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา

HRBP ต้องเผชิญกับการเมืองในองค์กรที่ซับซ้อน: หลายครั้ง HRBP ไม่สามารถเสนอแนะกลยุทธ์ที่เป็นประโยชน์ได้เต็มที่ เนื่องจากติดขัดกับความขัดแย้งภายในหรือนโยบายเดิมขององค์กร

แนวคิดแบบเดิมยังเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง: HR ในบางองค์กรยังติดอยู่กับการทำงานแบบเดิมๆ และไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ทำให้ยากต่อการพัฒนาไปสู่บทบาท HRBP ที่แท้จริง

แนวทางการแก้ไข:

💡 สื่อสารอย่างโปร่งใส: HR ควรเป็นผู้นำในการสื่อสารที่ชัดเจนและโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง การสื่อสารที่สม่ำเสมอ การใช้แพลตฟอร์มที่ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้ การใช้ข้อมูลสนับสนุนข้อเสนอหรือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รวมทั้งการเป็นตัวกลางในการเจรจาอย่างเป็นธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและลดความขัดแย้งภายในองค์กร

💡 ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้าง: สร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมภายในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทีม HR เอง HR ควรเป็นแบบอย่างในการปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เช่น

  • การนำเทคโนโลยีมาใช้ในงาน HR เพื่อปรับกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • การกระตุ้นให้พนักงานทุกระดับมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น โดยสร้างช่องทางเปิดรับไอเดียใหม่ๆ และผลักดันให้เกิดโครงการนำร่อง (Pilot Projects) เพื่อทดสอบแนวคิดใหม่ก่อนนำไปใช้อย่างเต็มรูปแบบในองค์กร

เมื่อพนักงานเห็นว่า HR พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและสนับสนุนไอเดียของพวกเขา วัฒนธรรมองค์กรก็จะค่อยๆ เปิดกว้างขึ้นและเอื้อต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนสิ่งใหม่ๆ เช่น

"HR ต้องเป็น Business Partner ซึ่งไม่ใช่คนที่อยู่ข้างหลัง Leader แต่เป็นคนที่อยู่ข้างๆ ไม่รอคำสั่งจากผู้นำ แต่ต้องมี Forward Thinking กล้าคิด กล้าตัดสินใจ ไม่กลัวที่จะทำอะไรผิดพลาด” – อภิชาติ ขันธวิธิ

Key Takeaways

อุปสรรค แนวทางแก้ไข
1. ภาระงานธุรการที่รัดตัว ใช้ HR Tech ต่างๆ เพื่อลดภาระงานเอกสารและเพิ่มเวลาสำหรับงานเชิงกลยุทธ์
2. การขาดความเฉียบคมทางธุรกิจและการสนับสนุนจากผู้บริหาร พัฒนาทักษะทางธุรกิจ เรียนรู้กลยุทธ์องค์กร และเชื่อมโยงงาน HR เข้ากับเป้าหมายทางธุรกิจ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับฝ่ายบริหาร
3. การขาดทักษะการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยี พัฒนาทักษะด้าน HR Analytics โดยอาจเริ่มจากการเรียนฟรี และฝึกฝนการใช้เครื่องมือที่องค์กรมีอยู่ เพื่อสามารถใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด
4. การเมืองในองค์กรและทัศนคติแบบเดิม ใช้การสื่อสารอย่างโปร่งใส และส่งเสริมวัฒนธรรมที่เปิดกว้าง โดยเริ่มเปลี่ยนแปลงจากภายในทีม HR เอง เพื่อให้ HR ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริหาร และสามารถให้ข้อเสนอแนะเชิงกลยุทธ์ได้

คำถามที่พบบ่อย (FAQs)

Q: HR จะสามารถมีบทบาทในเชิงกลยุทธ์ได้อย่างไร หากยังถูกมองว่าเป็นฝ่ายสนับสนุน?

A: HR ควรเข้าไปมีส่วนร่วมในแผนธุรกิจขององค์กร โดยศึกษากลยุทธ์ของบริษัทอย่างละเอียด จนสามารถระบุได้ว่า HR สามารถช่วยองค์กรให้บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจได้อย่างไร เช่น การพัฒนา Talent ที่ตอบโจทย์แผนระยะกลาง-ยาวขององค์กร หรือการออกแบบโครงสร้างองค์กรให้รองรับการขยายธุรกิจ เป็นต้น นอกจากนี้ HR ควรใช้ข้อมูลในการแสดงความคิดเห็นในวาระต่างๆ เช่น ผลกระทบต่อธุรกิจจากอัตราการลาออก หรือความสัมพันธ์ระหว่างการฝึกอบรมพนักงานกับประสิทธิภาพขององค์กร เพื่อให้ฝ่ายบริหารเห็นว่า HR มีบทบาทสำคัญในเชิงกลยุทธ์ ไม่ใช่แค่ฝ่ายสนับสนุน

Q: HRBP จำเป็นต้องมีทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูลบุคลากร (HR Analytics) มากแค่ไหน?

A: HRBP ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Data Science แต่ต้องมีความสามารถในการอ่าน วิเคราะห์ และใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในงาน HR เชิงกลยุทธ์ เช่น การใช้ข้อมูลเพื่อคาดการณ์อัตราการลาออกของพนักงาน หรือการวิเคราะห์แนวโน้มต่างๆ ของกลุ่มพนักงานที่มีศักยภาพสูง เพื่อทำแผนการพัฒนาอาชีพเฉพาะกลุ่ม เป็นต้น การเรียนรู้ HR Analytics ช่วยให้ HR สามารถนำเสนอแผนงานที่มีข้อมูลสนับสนุน ทำให้ข้อเสนอมีความน่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับจากฝ่ายบริหารมากขึ้น

Q: องค์กรจำเป็นต้องมีตำแหน่ง HRBP แยกออกมาจาก HR ทั่วไป (HR Generalist) หรือไม่?

A: ไม่จำเป็น เพราะ HRBP ไม่ได้เป็นเพียงตำแหน่งงาน แต่ยังเป็นบทบาทที่ HR ทุกคนสามารถแสดงออกมาได้ โดย HRBP มีบทบาท 4 ด้าน ที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ อันได้แก่

  • หุ้นส่วนทางกลยุทธ์ (Strategic Partner): HR ควรเข้าใจกลยุทธ์องค์กร และออกแบบแนวทางบริหารทรัพยากรบุคคลให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางธุรกิจ
  • ผู้เชี่ยวชาญงาน HR (Administrative Expert): HR ต้องสร้างระบบและกระบวนการ HR ที่มีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น และใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์
  • ผู้ดูแลและสร้างความผูกพันของพนักงาน (Employee Champion): HR ต้องดูแลความเป็นอยู่ของพนักงาน สร้างประสบการณ์พนักงานที่ดี (Employee Experience) และรักษาความผูกพันกับองค์กร
  • ผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent): HR ต้องสามารถนำพาองค์กรผ่านการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร หรือการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลก็ตาม

💬 คุณคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับอุปสรรคของ HRBP ในประเทศไทย?

📢 แชร์โพสต์นี้พร้อมแบ่งปันความคิดเห็นของคุณ ให้เพื่อน HR ได้เรียนรู้ไปด้วยกัน 🚀

👩🏻‍🏫 หรือหากใครพร้อมปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเองไปสู่ความเป็น HRBP หรือต้องการปรับปรุงพัฒนางาน HR ที่ตนเองรับผิดชอบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถคลิกเข้าไปดูรายละเอียดหลักสูตร HRBP 5.0 ได้เลย

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

เกี่ยวกับผู้เขียน

ชลธยา สรณารักษ์

ชนทยา สรณารักษ์

วิทยากรและที่ปรึกษาอิสระ ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD) ผู้มีประสบการณ์การทำงานด้านทรัพยากรมนุษย์ (HR) มากกว่า 10 ปี ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การสรรหาบุคลากร การพัฒนาผู้นำและผู้มีศักยภาพสูง การจัดทำกลยุทธ์ด้าน HRD ไปจนถึงการบริหารจัดการความหลากหลาย (Diversity, Equity and Inclusion (DEI) ภายในองค์กร

Ready to join our knowledge castle?

Find the right program for your organization and achieve your goals today

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save