เรื่องโดย
โค้ชเกษ – สิริรักษ์ ศรีปัญจพงษ์
ถ้าวันนี้ เราเดินเข้าไปในร้านหนังสือ มองไปที่หมวดการพัฒนาตนเอง ก็จะพบหนังสือ “โค้ชชีวิต (DIY COACHING)” “Life Coach เพื่อชีวิตที่เติบโตต่อไป”
มองไปที่หมวดการเงิน มีหนังสือ “Money Coach” “The Daily Trading Coach : ปรับความคิดสู่เทรดเดอร์มืออาชีพ” วางอยู่บนชั้น
หมวดบริหาร ก็มีหนังสือ “โค้ชชิ่ง” “ผู้นำก็ต้องมีโค้ช” “รถม้าแห่งผู้นำ”
หมวดกีฬาก็ยังมี “คู่มือนักวิ่งฉบับพื้นฐานโดยโค้ชเอ็มเจและโค้ชโอ” “การเป็นโค้ชกีฬามืออาชีพ”
หรือหมวดอาชีพก็ยังไม่เว้น “ห้องเรียนแห่งอนาคต เปลี่ยนครูให้เป็นโค้ช”
“การโค้ช”(Coaching) ถูกนำมาใช้ในหลายวิชาชีพ ที่เราคุ้นเคยกันดีคงเป็นโค้ชในวงการกีฬา ต่อมาเมื่อโค้ชถูกนำมาพูดถึงในองค์กรก็เข้าใจกันว่าโค้ชเป็นการสอนงานที่ทำให้คนที่ทำงานไม่เป็น ให้ทำงานได้
โค้ชขยายไปอีกหลายวงการ ทั้งการเงิน การบริหาร แม้กระทั่งโค้ชชีวิต วัตถุประสงค์ของการโค้ชก็เป็นไปตามหมวดหมู่บนชั้นหนังสือ โค้ชกีฬาก็เพื่อให้นักกีฬาเก่งในเรื่องนั้นๆ โค้ชการเงินก็เพื่อให้ใช้เงินเป็น รวย รวย รวย โค้ชชีวิตก็เพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
แล้วการโค้ชที่ดีควรมีองค์ประกอบอะไร ?
- โค้ชเป็นคนที่ช่วยให้ผู้ที่รับการโค้ช หรือโค้ชชี่ เก่งขึ้น มีความสามารถมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่าง
- โค้ชต้องมีทักษะทั้งการฟัง การถาม และการรับ Feedback
- การโค้ชเป็นกระบวนการที่มีขั้นตอน และมีหลักการ
- การโค้ชเป็นการเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเอง
- การโค้ชต้องมีเป้าหมาย
- การโค้ชมุ่งไปที่แนวทางแก้ไขปัญหา (Solution)
กระแสการโค้ชที่มาแรงในปัจจุบัน เป็นแนวการโค้ชที่มาจาก ICF (International Coach Federation) ที่นิยามว่า
“การโค้ชคือการเป็นหุ้นส่วนกับผู้รับการโค้ชในกระบวนการกระตุ้นความคิดอย่างสร้างสรรค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาเอาศักยภาพทั้งส่วนตัวและวิชาชีพมาใช้อย่างสูงสุด”
การโค้ชเป็นการดึงศักยภาพของคนออกมา ไม่ใช่แค่การพูดคุยกันไปเรื่อยๆ ระบายความรู้สึกให้สบายใจ หรือการตำหนิต่อว่าให้ปวดใจ แต่เมื่อทำการโค้ชแล้วต้องมีกำลังใจมีพลังในการลงมือปฏิบัติ เกิดความรู้สึกที่ดี และมองเห็นแนวทางที่จะลงมือทำ เกิดการปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยโค้ชชี่เป็นผู้คิด เลือก และตัดสินใจด้วยตนเอง ผ่านกระบวนการโค้ช
ในการโค้ชเรามักจะได้ยินคำว่า “เป้าหมาย” คือสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นหลังจากโค้ช เวลาโค้ชกันจึงยึดเป้าหมายเป็นหลักในการสนทนา
ผู้ที่เป็นโค้ชต้องมีชุดความคิด (Mindset) ว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพ คนพัฒนาได้ และสิ่งสำคัญอีกเรื่องคือสัมพันธภาพที่ดีระหว่างโค้ชและโค้ชชี่ ความไว้วางใจกัน เชื่อใจกัน
การโค้ชเป็นการพัฒนาในระยะยาว ไม่ใช่โค้ชกันครั้งเดียวชีวิตก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ โค้ชไม่ใช่การรักษา ถ้าใครป่วยก็แนะนำให้ไปพบแพทย์ หรือ Therapist และโค้ชก็ไม่ใช่การสะกดจิต ไม่มุ่งไปที่การขุดปม หรือขยี้ไปที่ปัญหา
แต่การโค้ชคือการวางเป้าหมาย และเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองให้ไปถึงเป้าหมาย
แล้ววันนี้ คุณพร้อมจะรู้จักกับการโค้ช หรือยัง ?