เรื่องโดย
อ.ไกรกิติ ทิพกนก “สุดยอดนักบริหาร นักจัดการรุ่นใหม่”
หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก. ก้องมหาสมุทร
และผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรม KCTA
ตอนที่แล้วผมได้พูดถึง 3 กับดักสำคัญที่นักธุรกิจ SMEs มือใหม่ต้องจำไว้ให้ขึ้นใจ หากต้องการนำธุรกิจของคุณไปให้ถึงจุดหมาย
ตอนนี้เรามาเริ่มติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้อง ด้วยการวางแผนและการกำหนดเป้าหมายให้กับธุรกิจของคุณ
การกำหนดเป้าหมายและการวางแผนขององค์กร เป็นหัวใจสำคัญในการกำหนดทิศทางที่องค์กรจะมุ่งไปอย่างชัดเจน เริ่มจากกระบวนการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมขององค์กรทุกมิติ ไปสู่การมองเห็นโอกาสใดบ้างที่เป็นประโยชน์ต่อการเติบโต หรือ ดำรงอยู่ขององค์กร การวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ที่ทำด้วยความละเอียด รอบคอบ จะทำให้ได้ผลการวิเคราะห์ที่ คม ลึก จนเราสามารถกำหนดเป้าหมายขององค์กรและนำมาวางแผนงาน“เชิงกลยุทธ์” (Strategic plan) ได้
โดยเมื่อมาถึงขั้นตอนการวางแผนนั้น การลำดับความสำคัญของภารกิจก่อนหลังเพื่อขับเคลื่อนแผนงานอย่างมีประสิทธิภาพจนเกิดประสิทธิผลนั้นถือเป็นหัวใจสำคัญที่ผู้บริหารและหัวหน้างานต้องพัฒนาทักษะด้านนี้อย่างเต็มที่เพื่อให้แผนปฏิบัติการของหน่วยงานของตนให้สอดคล้องและสนับสนุนต่อเป้าหมายเชิงกลยุทธ์หลักได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในการการวางแผนและการเรียงลำดับความสำคัญของแต่ละภารกิจได้นั้น ต้องเริ่มต้นที่ความตระหนักรู้ถึงความสำคัญ และผู้บริหารต้องมีความรู้และมีทักษะในเรื่องต่างๆเหล่านี้ ได้แก่
– การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมขององค์กรทุกมิติจนนำไปสู่การมองเห็นโอกาสใดบ้างที่เป็นประโยชน์ต่อการเติบโตหรือดำรงอยู่
– มีหลักคิดที่ถูกต้องในการเลือกเป้าหมายขององค์กรได้ชัดเจน
– มีความเข้าใจในการเรียงลำดับความสำคัญของภารกิจที่รับผิดชอบ
– มีความสามารถในการวางแผนและกำหนดแผนปฏิบัติการของหน่วยงานของตน ให้สอดคล้องและสนับสนุนต่อเป้าหมายหลักขององค์กรได้
– มีวิธีการสื่อสารแผนงานที่มีประสิทธิภาพและสื่อสารอย่างทั่วถึงภายในองค์กร เป็นต้น
แผนงานที่ดีและการเรียงลำดับความสำคัญที่ดีและมีคุณภาพจะนำไปสู่งานปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป
การวิเคราะห์และประเมินสถานะให้พร้อมก่อนก้าวไปยึดเป้าหมาย
ยุทธศาสตร์ทางทหารที่สำคัญที่สุดของจีน คือ ตำราพิชัยสงครามซุนจื่อ มีคำสอนของผู้เขียน ซุนวู สรุปย่อเป็นที่รู้จักกันดีว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” ใช้ได้เป็นอย่างดีแม้ในสงครามการค้า การตลาด
เพราะทุกธุรกิจนั้นมีวัฏจักรชีวิตเฉพาะของตัวเอง ซึ่งแตกต่างไป ความเร็วและทิศทางการขึ้น-ลงของแต่ละธุรกิจก็มีวงรอบของตนเอง
สิ่งที่ดีที่สุดคือการที่เราเป็นผู้กำหนดทิศทางในการบริหารธุรกิจและกลยุทธ์ต่างๆขึ้นมาด้วยตนเองเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในทุกๆช่วงชีวิต จึงจำเป็นที่ผู้บริหารต้องสามารถวิเคราะห์และประเมินสถานะให้พร้อมก่อนก้าวไปยึดเป้าหมาย ซึ่งการจะวิเคราะห์ได้นั้น ผู้บริหารจำเป็นต้องมีความรู้ในธุรกิจของตน 3 เรื่องใหญ่ๆได้แก่
การรู้จักสมรรถนะของตนเองและทีมงาน (จุดแข็ง-จุดอ่อน)
การรู้จักสภาพแวดล้อมและปัจจัยภายนอก (โอกาส-อุปสรรค)
การรู้จักอนาคต (คาดการณ์ผลกระทบ-ความเสี่ยง-ความไม่แน่นอน)
เพราะบางครั้งความแตกต่างก็ไม่ใช่คำตอบ ที่ช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ หากเข้าผิดจังหวะโอกาส การเข้าสู่ธุรกิจถูกเวลามีความสำคัญกว่าอะไรทั้งสิ้น เมื่อพูดถึง “ จังหวะโอกาส” ที่ผู้บริหารหลายท่านมักมีคำถามกับตัวเองเสมอว่า
“เราควรจะเริ่มเมื่อไหร่?”
“โอกาสในการชนะคู่แข่งมีไหม? อย่างไร?”
ตอนหน้ามีคำตอบให้ครับ !!