
เหมือนสายฟ้าฟาดลงกลางใจ จริงเหรอนี่???
แล้ววันหนึ่งชีวิตการทำงานก็มีการเปลี่ยนแปลงจากงานประชาสัมพันธ์ที่รัก สู่งานที่ไม่คิดว่าต้องไปทำ คืองานบริหารทั่วไป แม้จะเป็นตำแหน่งสูงสุดในฝ่าย แต่มันไม่ตอบโจทย์ในชีวิตการทำงาน อันเนื่องด้วยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรใหม่ ระดับ c ของตัวเองไม่สามารถดำรงอยู่ในตำแหน่งเดิมได้ ไม่แต่เฉพาะตัวผู้เขียนเท่านั้น หลายคนในหน่วยงานนั้นถูกปรับเปลี่ยนกันเยอะมาก จึงจำเป็นต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงของชีวิตกับงานที่ตัวเองรัก ต้องยอมรับว่าทำใจอยู่นานแต่ก็รู้ว่า สัจธรรมในสิ่งเหล่านี้ต้องเกิดขึ้น พยายามคิดในแง่บวกว่า จะเป็นไรไป ได้มีโอกาสเรียนรู้งานใหม่ๆ เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ นั่นคืองานสารบรรณ ด่านแรกของงานรับหนังสือจากภายนอกแล้วส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง งานแม่บ้าน ที่ต้องกำกับดูแลความสะอาดของพื้นที่บริเวณอาคาร ห้องน้ำ ทำเรื่องซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ จัดรถ จัดคนขับรถตามความต้องการของคนในองค์กร แม้ไม่ชอบสักเท่าไหร่ แต่ด้วยเป็นคนไม่ย่อท้อและตั้งใจทำงาน ก็ค่อยๆ เรียนรู้กันไป ถูกบ้างผิดบ้าง ส่วนงานพิธีกร งานกาชาด ผู้เขียนก็ยังคงทำหน้าที่นี้อยู่ตลอดต่อเนื่อง ซึ่งอาจเพราะเป็นงานของส่วนรวมที่นอกเหนือจากงานในหน้าที่ เป็นงานเสียสละและเด่นอยู่พอสมควร เพราะต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวจนเป็นที่รู้จักของคนในองค์กร รวมแล้วเลยได้รับการ promote พิจารณาเป็นกรณีพิเศษ 2 ขั้น ในปีนั้น
แต่ด้วยหัวใจที่เพรียกหา ถ้ากรีดเลือด กรีดเนื้อออกมาก็จะเห็นแต่ตัวตนของคน PR หัวใจมันเรียกร้องตลอดเวลา รักเธอสุดหัวใจ ฉันอยากไข่คว้าตามหาเธอให้เจอแล้วครอบครองหัวใจของเธอไปตลอดกาล แล้วก็ถึงเวลาตามหาหัวใจ ได้มีองค์กรหนึ่งต้องการสร้างงานการผลิดรายการโทรทัศน์ งานพิธีกร ซึ่งเป็นงานในฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่องค์กรนั้นขาดแคลนคนที่มีความรู้ความสามารถทางด้านนี้ ในใจก็คิดว่าโอกาสมาถึงแล้ว แต่ผู้เขียนก็ยังไม่วายที่จะคิดทบทวนถึงผลได้ผลเสียของการเปลี่ยนไปอยู่องค์กรใหม่ สังคมใหม่ ทั้งๆ ที่เพิ่งได้รับการพิจารณาความดีความชอบ 2 ขั้นมาหมาดๆ ในปีเดียวกันนั้น แต่ในที่สุดหัวใจก็ได้คำตอบ คนเราหากเลือกที่จะได้อยู่หรือทำในสิ่งที่เรารัก มันน่าจะทำให้เรามีความสุขกว่าการเลือกที่จะก้าวหน้าแต่ต้องทนอยู่บนความอึดอัดหัวใจและไร้ความเป็นตัวตน จึงตัดสินใจทำเรื่องขอโอนย้ายจากองค์กรทางด้านกฎหมายที่อยู่มากว่า 20 ปี ไปสู่องค์กรทางด้านแรงงาน (ซึ่งในครั้งนี้ครอบครัวไม่ได้ทันทานเพราะยังไงก็ยังคงอยู่ในงานราชการ)
ภายใต้การตัดสินใจ (Decision Making) ซึ่งทางวิชาการถือเป็นกระบวนการเลือกทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง จากหลาย ๆ ทางเลือกที่ได้พิจารณา หรือประเมินอย่างดีแล้วว่า เป็นทางให้บรรลุวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่เรากำหนดไว้ การตัดสินใจเป็นสิ่งสำคัญ และเกี่ยวข้องกับหน้าที่การบริหาร หรือการจัดการเกือบทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการวางแผน การจัดองค์การ การทำงาน การประสานงาน และการควบคุม ในเรื่องการตัดสินใจได้มีการศึกษามานาน
ความหมายของการตัดสินใจ นักวิชาการได้ให้ความหมายไว้แตกต่างกันดังนี้
- บาร์นาร์ด (Barnard, 1938) ได้ให้ความหมายของการตัดสินใจไว้ว่า คือ “เทคนิคในการที่จะพิจารณาทางเลือกต่างๆ ให้เหลือทางเลือกเดียว”
- ไซมอน (Simon) ได้ให้ความหมายว่า การตัดสินใจ เป็นกระบวนการของการหาโอกาสที่จะตัดสินใจ การหาทางเลือกที่พอเป็นไปได้ และทางเลือกจากงานต่าง ๆ ที่มีอยู่
เมื่อผ่านกระบวนการคิดและตัดสินใจ ผลของการตัดสินใจก็เป็นดังที่หัวใจเรียกร้อง ผู้เขียนได้ตามหาหัวใจของตัวเองจนเจอ ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานประชาสัมพันธ์ ได้กลับมาทำงานที่ถนัดและมีความสุขอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความ Challenge ความท้าทายที่กำลังจะเกิดขึ้น คือการต้องรีบสร้างตัวตนและฉายภาพของตัวเองให้คนที่คาดหวังและรอดูผลงานของเราได้มองเห็นให้เร็วที่สุด
และแล้วไม่นานการสร้างงานชิ้นใหม่ก็เกิดขึ้น มีรายการโทรทัศน์รายการใหม่เกิดขึ้น เป็นรายการที่เปิดตัวผู้บริหารทุกระดับขององค์กรนี้ ตั้งแต่อธิบดี รองอธิบดี ผู้อำนวยการสำนัก ผู้บริหารแต่ละจังหวัด ที่ต้องเตรียมตัวออกมาพูดให้ความรู้ผ่านรายการโทรทัศน์ ผู้เขียนเลยเป็นผู้ไปสร้างความตื่นตัวให้แก่ผู้บริหาร ซึ่งบางคนก็ตื่นเต้นที่จะต้องเอาหน้าออกกล้อง โดยสิ่งที่ต้องเตรียมคือ script ผู้เขียนนำข่าวประชาสัมพันธ์มาวิเคาะห์ร่วมกับทีมงานว่าเรื่องใดควรเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ความโชคดีของผู้เขียนคือ ได้เจอทีมงานกองถ่าย ช่างกล้องที่เคยทำงานร่วมกันเมื่อครั้งทำงานอยู่ในองค์กรเดิม จึงทำให้การทำงานราบรื่นมีความสบายใจ เมื่อ script เสร็จผ่านการตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา จำเป็นที่ผู้จัดต้องคิดแล้วว่า บทพูดของผู้บริหารที่ยาวมากๆ จำเป็นต้องมีตัวช่วยคือ ตัวหนังสือตัวโตๆ ให้มองเห็นได้ชัดในระหว่างที่พูดบรรยายตอนถ่ายทำ บทบาทที่ผู้เขียนทำคือผู้กำกับ บางครั้งมีการถ่ายทำนอกสถานที่ (outdoor) ต้องเอาเก้าอี้เตี้ยๆ ให้ผู้บริหารขึ้นไปยืนเพื่อให้ได้ภาพ background ที่สวยงาม ต้องดูแสงในระหว่างถ่ายทำ ผู้เขียนรู้สึกกลับมามีความสุขสนุกกับงานอีกครั้ง กับอีกหนึ่งหน้าที่ที่ถนัดคืองานพิธีกร เป็นความโชคดีที่บุคลากรด้านนี้โดยเฉพาะผู้หญิง ไม่มีใครถนัดหรือรักที่จะทำ ผู้เขียนก็เลยได้รับการยอมรับ ซึ่งในใจก็คิดว่า เราไม่ใช่คนเก่งนะแต่บังเอิญมาได้อยู่ในที่ที่เค้าขาดแคลนคนทำงานด้านนี้จริงๆ ก็เพียงแค่ได้มาเติมเต็มในส่วนที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์เค้าขาด ก็เท่านั้นเอง
ยอมรับเลยว่าในช่วงระยะเวลา 1 ปีเศษที่ผู้เขียนโอนย้ายมาทำงานที่นี่ก็มีความกดดันอยู่บ้างเพราะเราเป็นคนใหม่ต้องเรียนรู้วัฒนธรรมองค์กรกับเพื่อนร่วมงานใหม่ๆ บางเรื่องเราก็ขาดแต่บางเรื่องเราก็สอนให้คนอื่นมีทักษะเพิ่มเติม เช่น การเขียน script บทโทรทัศน์ จนหลายคนเขียนเป็น เมื่อผู้ใหญ่เห็นว่าผู้เขียนทำได้ทำเป็น รายการโทรทัศน์อีกรายการหนึ่งก็เกิดขึ้น เป็นรายการประเภทพาไปดูของดีที่ผลิตขึ้นจากแรงงานที่ใช้ฝีมือของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่จังหวัดมานำเสนอให้คนได้รู้จัก โดยมีผู้ดำเนินรายการเป็นนักร้องนักแสดงคนดังในชณะนั้นคือ หนึ่ง คณิต เขียวเซ็นต์ บางตอนผู้เขียนก็ได้มีโอกาสร่วมรายการด้วย เป็นอีกงานที่ต้องมีการ survey ก่อนไปถ่ายทำจริง ก็เลยต้องใช้คำว่า “เรื่องงานเรื่องเที่ยวเรื่องเดียวกัน” รายการลักษณะนี้ไม่ต้องมี script เพียงแต่ทำความเข้าใจกับผู้ดำเนินรายการว่า concept ของแต่ละตอนให้นำเสนอแบบใด มีจุดเน้นตรงไหน ความเป็นมืออาชีพของเค้าก็ทำให้เราได้เรียนรู้จากวิธีคิดและการพูดคุยที่ดูสนุก เป็นธรรมชาติ เป็นกันเองกับผู้ร่วมรายการที่เป็นผู้ผลิตชิ้นงานฝีมือ ซึ่งต้องอธิบายกระบวนการและขั้นตอนการผลิตให้คนดูรายการได้เห็นของจริงอย่างน่าสนใจ อย่างเช่น เครื่องปั้นดินเผา การวาดลวดลายของเครื่องถม การทำกระดาษสา การมัดย้อมผ้า การทำขนมโบราณที่สร้างรายได้อย่างมากมาย ฯลฯ เป็นต้น ประสบการณ์จากงานผลิตรายการโทรทัศน์ลักษณะนี้ทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้วิธีการใช้โทนเสียงและการใช้จังหวะของการพูดแบบสร้างอารมณ์ร่วมให้คนดู คนฟังรู้สึกสนุกสนานน่าติดตามได้อย่างไร ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ได้มีโอกาสเก็บเกี่ยวและเรียนรู้จากมืออาชีพ
เหมือนชะตาฟ้าลิขิต!! บทบาทใหม่ในงานสายอาชีพนี้ได้ก้าวเข้ามาในชีวิต
เมื่อเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ (สมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้กัน) มีเสียงๆ หนึ่งที่รู้สึกคุ้นหู เป็นเสียงผู้ชายอาวุโสบอกว่าให้ไปหยิบหนังสือพิมพ์มติชน แล้วเปิดดูคอลัมน์หนึ่ง ปรากฏรูปของผู้บริหารระดับสูงชององค์กรด้านกฎหมายซึ่งเป็นองค์กรเดิมของผู้เขียนในอดีต ซึ่งท่านคือ อดีตผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์และการข่าว พูดง่ายๆ เจ้านายเก่านั่นเอง แต่ตำแหน่งบริหารที่ท่านได้รับแต่งตั้งใหม่ในองค์กรแห่งใหม่ ผู้เขียนไม่เคยรู้จักหรือคุ้นหูมาก่อน ท่านจึงอธิบายให้ฟังว่าเป็นองค์กรอิสระที่เกิดขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งในโครงสร้างขององค์กร มีงานหนึ่งซึ่งยังไม่มีใครไปทำงานด้านนี้จึงเห็นว่าผู้เขียนน่าจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะไปเริ่มบุกเบิกทำงานใหม่นี้ด้วยกันกับท่าน ซึ่งก็คืองานประชาสัมพันธ์นั่นเอง แต่หากฟังดูแล้วก็น่าจะเป็นงานปกติที่ผู้เขียนทำอยู่หรือเคยผ่านงานมีประสบการณ์มาแล้ว แต่มันไม่เป็นเช่นนั้นเพราะชื่อตำแหน่งมันช่างเลอเลิศกว่าที่จะคิดเองได้ นั่นคือ ตำแหน่ง “ผู้อำนวยการโฆษก” โอ้แม่เจ้า! เสียงร้องในใจมันดังขึ้นมาอย่างน่าตกใจ แต่ท่านก็บอกว่า แม้เป็นงานใหญ่ขององค์กรใหม่แต่ก็คิดและมั่นใจว่าผู้เขียนต้องทำได้ และจะหาทีมงานร่วมคิดร่วมทำ โดยมีท่านเองเป็นผู้ที่มีหน้าที่กำกับโดยตรงกับงานนี้ เมื่อผู้ใหญ่ออกปากและเชื่อมั่นในตัวเรา ไฉนเลยตัวผู้เขียนจะกล้าปฏิเสธ (แบบงงๆ) เพราะเป็นอีก 1 โอกาสในชีวิตการทำงานที่สูงขึ้นอีกขั้นหนึ่ง