พูดแล้วประหม่า เมื่อเจอสายตาคนเยอะๆ ตื่นเต้น มือสั่น ใจสั่น หายใจติดขัด ลนลาน ตาพร่ามัว ปวดท้อง อยากเข้าห้องน้ำ!
ใครเคยมีอาการเหล่านี้บ้างมั๊ย? เวลาถูกเชิญให้ขึ้นไปพูดบนเวที ไม่ว่าจะเป็นพูดแสดงความยินดีหรืออวยพรในโอกาสต่างๆ พูดบรรยายให้ความรู้ ต้องนำเสนอ present งานต่อหน้าผู้บังคับบัญชา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นครั้งแรกที่ต้องพูดต่อหน้าผู้คนที่มีจำนวนมาก แน่นอนความประหม่า ความตื่นเต้นย่อมเกิดขึ้น ทำให้ขาดความมั่นใจในตัวเอง พูดแล้วประหม่า เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้หากคุณไม่มีประสบการณ์ และไม่เคยฝึกฝนมาก่อน
ผู้เขียนเองเคยผ่านจุดนั้นมาแล้ว บอกได้เลยว่ามันตื่นเต้น ใจสั่น นัยน์ตาพร่ามัวมองไม่เห็นหรือไม่อยากมองหน้าว่าใครเป็นใครด้วยซ้ำ แต่อาศัยว่าใช้มวยวัดที่ติดตัวมา คือการร้องเพลงต่อหน้าสายตาคนเยอะๆ แต่มันช่างแตกต่างกันเหลือเกินเพราะการร้องเพลง สิ่งที่เราเปล่งเสียงออกไปมันคือตัวหนังสือที่เป็นเนื้อร้อง แค่เพียงเราจำเนื้อร้องและทำนอง ประกอบกับอารมณ์ในการถ่ายทอดบทเพลงออกไปให้คนดู/คนฟังรู้สึกถึงความบันเทิง มีอารมณ์ร่วมไปกับเราก็เพียงพอแล้ว ส่วนจะประเมินว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็วัดจาก tip คือเงินรางวัลจากความถูกใจของคนดูคนฟังก็เท่านั้น แต่การได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่พิธีกรในงานวันปีใหม่ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ต้องทำหน้าที่พิธีกรหลัก แม้จะเป็นงานรื่นเริงที่ไม่เป็นพิธีการ แต่ในความรู้สึกของตัวเองมันเป็นงานที่สำคัญมากจะเริ่มต้นอย่างไร และจะทำอย่างไรให้งานดำเนินไปอย่างราบรื่นไม่สะดุด แม้จะมีพี่เลี้ยงคอยกำกับและแนะนำ ความตื่นเต้นก็อยู่ในความรู้สึกตลอดเวลา ซึ่งก่อนถึงวันที่จะมาทำหน้าที่พิธีกร ผู้เขียนเตรียมตัวโดยเอากำหนดการของงานมาทำเป็น script เขียนทุกประโยคที่จะพูดหรือทักทายแขกในงาน ซักซ้อมโดยพูดหน้ากระจก การใช้สีหน้า ท่าทาง acting แค่ไหนถึงจะดูดี (ในสายตาตัวเอง) เมื่อถึงวันจริงผู้เขียนก็ไปถึงสถานที่จัดงานก่อนเวลาเพื่อให้รู้และได้เห็นทุกมุมของห้อง ที่สำคัญเพื่อสร้างความคุ้นเคยของตัวเองบนเวทีนั่นเอง แล้วงานก็เริ่มขึ้นและดำเนินไปด้วยความราบรื่นและสนุกสนานภายใต้คำแนะนำและการกำกับของพี่เลี้ยงข้างเวทีที่คอยให้กำลังใจตลอดงาน ก็เป็นอีก 1 ประสบการณ์ที่เลอค่ามากสำหรับชีวิตการเป็นพิธีกรครั้งแรก
อยากจะบอกว่าความกลัวและความประหม่าก่อนการพูดต่อหน้าคนเยอะๆ เป็นกันทุกคนในโลกนี้ เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ คนที่เราเห็นว่าพูดจนคล่องชำนาญก็ล้วนผ่านการเหงื่อตกมือสั่นกันมาแล้วทั้งนั้น มันไม่ใช่อาการผิดปกติแต่อย่างใด ประเด็นมันอยู่ที่ว่าแต่ละคนมีวิธีการรับมือต่ออาการของตัวเองอย่างไร บางคนปล่อยให้ตัวเองตื่นเต้นอยู่อย่างนั้นโดยไม่เปลี่ยนแปลงเพราะไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร แต่บางคนก็รีบจัดการด้วยการเผชิญหน้ากับความกลัวและความประหม่านั้นเพื่อให้มันลดลงและหมดไปในที่สุด
จากประสบการณ์อีกหลายครั้งในการทำหน้าที่พิธีกรของผู้เขียน ซึ่งถือว่าสอบผ่านในระดับหนึ่ง (รุ่นพี่เป็นผู้ประเมิน) เพราะผู้เขียนมีเทคนิควิธีขจัดความกลัวและเอาชนะความประหม่าในการพูดต่อหน้าคนเยอะๆ จึงอยากนำเทคนิคเบื้องต้นมาฝากให้นำไปปรับใช้และฝึกฝนกัน
3 เทคนิค เพื่อเอาชนะความประหม่าในการพูดเมื่อเจอสายตาคนเยอะๆ
วิธีที่1 การหายใจ
บางคนพยายามหลีกเลี่ยงมาตลอด แต่สุดท้ายแล้วก็หนีไม่พ้นที่ต้องถูกเชิญให้พูดต่อหน้าคนเยอะๆ ดังนั้น ก่อนพูดเราจะรู้สึกกลัวหรือตื่นเต้น เคยรู้สึกไหม เหมือนเราต้องกลั้นลมหายใจ มันจะอึดอัด และไม่รู้วิธีว่าจะผ่านมันไปได้อย่างไร ก่อนอื่นแนะนำว่าต้องเอาลมออกจากปาก กับเอาลมเข้าปากหรือคล้ายการเป่าปาก ทำแบบนี้ประมาณ 2-3 นาที หากเริ่มหายใจถี่ให้ลองยืดถ่ายลมหายใจของตัวเองออก หายใจให้ช้าลง การพยายามควบคุมลมหายใจของตัวเองเป็นการแก้ไขทางกายภาพที่ส่งผลไปถึงทางใจ ช่วยลดความเครียดเกร็งที่เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี และเมื่อเราก้าวเดินออกไปยืนอยู่กลางเวที การทรงตัวให้มั่นด้วยขาทั้งสองข้างต้องมีความสมดุลกัน ไม่เทน้ำหนักไปข้างใดข้างหนึ่ง มือข้างหนึ่งถือไมค์ให้ห่างจากปากประมาณ 1 คืบ การเริ่มต้นพูด สิ่งที่จำเป็นและสำคัญคือ การแนะนำตัวให้คนจดจำ ด้วยการ 1) ทักทายผู้หลักผู้ใหญ่ในที่นั้น ไม่เกิน 3 ท่าน เริ่มจากชื่อ นามสกุล และตำแหน่งสูงสุด (ประธานในพิธี) ถัดมาเป็นตำแหน่งลำดับรองลงมา และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน 2) บอกชื่อ-นามสกุล ว่าผู้พูดเป็นใคร มาจากไหน และ 3) กล่าวความรู้สึก / คำคม / คำกลอน (เพิ่มเสน่ห์และรอยยิ้มให้ผู้ฟังได้ดี) แต่ก็มีบางคนที่เริ่มต้นด้วยคำคม / คำกลอน ก่อน อันนี้แล้วแต่สไตล์ของผู้พูด และอย่าลืมหายใจระหว่างประโยคที่พูดทุกๆ 3 นาที การพูดให้มีจังหวะ เว้นวรรค การใช้โทนเสียง ใช้ตา และใช้มืออีกข้างหนึ่งประกอบการพูดจะทำให้ดูดีเป็นธรรมชาติที่สุด
วิธีที่ 2 การเข้าใจ
เรื่องที่จะพูดออกไปอย่างลึกซั้ง ตั้งประเด็นที่จะพูดว่า คนฟังจะได้อะไรจากเรา เน้นการสื่อสาร พูดเนื้อหาสาระที่ต้องการพูดที่มาจากความรู้ ประสบการณ์ แหล่งอ้างอิงของข้อมูล หรือหลักฐานที่นำมาประกอบการพูด ซึ่งต้องมีการเตรียมตัวและฝึกฝนมาอย่างดี แต่พอถึงเหตุการณ์จริง สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้พูดที่เป็นมือใหม่ อารมณ์และความรู้สึกตื่นเต้นย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เช่น อาการใจเต้น เหงื่อออกที่มือ ฯลฯ นั่นคืออาการของความประหม่า และเริ่มรู้สึกไม่มั่นใจในเรื่องที่จะต้องขึ้นไปพูดบนเวทีต่อหน้าคนเยอะๆ เพราะทุกสายตาต่างจับจ้อง และมองมาที่ผู้พูด ประกอบกับความคาดหวังของผู้ฟังที่รอฟังเรื่องราวและสาระที่ผู้พูดกำลังจะพูด แล้วถ้าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นกับคุณล่ะ ! คุณมีวิธีรับมือกับมันอย่างไร? ผู้เขียนจึงอยากแนะนำว่าอย่ากังวลกับความคาดหวังของผู้ฟังมากนักให้คุณเตรียมความพร้อมของข้อมูลในเรื่องที่จะพูด และนึกแค่เพียงว่าเรากำลังจะให้ในสิ่งที่มีประโยชน์ต่อผู้ฟังจากประสบการณ์ของเราตามที่กล่าวในตอนต้น จะทำให้เรารู้สึกว่าเรามาให้มากกว่ามาขอ คือ ขอคำชื่นชมจากผู้ฟัง หรือคิดว่าผู้ฟังจะชอบแล้วชื่นชมเรามั๊ย สิ่งสำคัญในการพูดควรเรียบเรียงให้เป็นภาษาของตัวเราเอง ตามความเข้าใจโดยไม่ท่องจำภาษาของผู้อื่น แล้วฝึกฝนท่องจำจนสามารถถ่ายทอดออกมาได้โดยไม่ผิดพลาด ให้เวลากับตรงนี้มากๆ เพราะความพร้อมจะทำให้เกิดความมั่นใจเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่กดดัน ที่สำคัญอย่าลืมซ้อมกับตัวเองที่หน้ากระจก เพื่อจะได้มองเห็นท่าทาง และลีลาของตัวเองด้วย อีกอย่างหนึ่งที่จะเพิ่มเสน่ห์ให้ผู้พูดได้ดีก็คือ การเตรียมคลังคำ ที่เป็นคำคมของตัวเอง
วิธีที่ 3 คีย์สำคัญที่สุดคือ ปรับใจเรา
การหายใจไม่เป็นจังหวะ การไม่เข้าใจเรื่องที่จะพูด เป็นต้นตอของความตื่นเต้น ประหม่า เพราะเราคิดว่า เราจะทำถูกใจเค้าหรือไม่ เพราะเราเกิดความกลัว เนื่องจากเรามักคิดว่าเรามาขอ คือมาเพื่อให้เค้าชอบเรา คาดหวังว่าพูดออกไปแล้วเค้าต้องชอบต้องปรบมือให้ความสนใจ ต้องปรับว่าเรากำลังมาให้เค้า เค้าจะได้อะไรจากเรา ตั้งจิตเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ ถ้าเราคุยกับเพื่อนจะไม่ตื่นเต้นเพราะเราเท่ากัน แต่ถ้าพูดในที่ที่มีคนเยอะๆ เรามักคิดว่าเค้าอาจจะรู้มากกว่าเราหรือสูงกว่าเรานั่นเอง เราจึงต้องประเมินผู้ฟัง บางครั้งอาจมีบางคนเล่นโทรศัพท์ นั่งกอดอก เราต้องปรับความคิดว่าเค้าอาจมีงานด่วน งานสำคัญที่ต้องคุย chat เราต้องปรับใจเราว่านี่เราเอาประโยชน์มาให้เค้านะ เค้าจะได้อะไรจากเราเยอะแยะมากมาย เราก็จะเกิดความภูมิใจ ทำให้รู้สึกลดความประหม่าและกลับมามั่นใจในตัวเองมากขึ้น
ทั้ง 3 เทคนิค ของการลดความประหม่าในการพูดที่ผู้เขียนนำมาฝากนี้ เป็นแค่เพียงเทคนิคเล็กๆ จากประสบการณ์ของการเริ่มต้นเป็นนักพูดเท่านั้น ผู้เขียนยังมีประสบการณ์ในงานการพูด การประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าในระหว่างการพูด หรือการแก้ไขวิกฤตการณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานในสายงานนี้อีกมากมาย ซึ่งอยากให้ติดตามกัน อาจมีบางมุมมองที่คุณจะได้รับประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะคะ
ในเรื่องการลดความประหม่า ผู้เขียนมีเทคนิคส่วนตัวที่อยากกระซิบอีกนิดนึงคือ ทุกครั้งที่ขึ้นไปพูดบนเวทีให้บอกตัวเองเสมอว่า “คนที่เรารักกำลังนั่งให้กำลังใจเราอยู่ที่แถวหลังสุด” มันจะดีต่อใจมากเลยนะ ขอบอก!
ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางที่จะสร้างความเป็นตัวตนของคุณให้กลายเป็นนักพูดที่น่าประทับใจและจดจำใน Character ที่พิเศษนี้ จงค้นหาตัวเองให้เจอ แล้วสร้างสไตล์การพูดของคุณ ในแบบ “Sparky Talk”
สนใจเรียนเทคนิคการพูดแบบ Sparky Talk พูดจุดประกายในแบบของคุณ กับ ดร.ณิชานาฎ
สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่:
- โทร: 085-9391593
- อีเมล: nartiya@kctathailand.com
- แชท: m.me/kcttraining
Related Course
Sparky Talk
หลักสูตรการพูดจุดประกาย เรียนรู้หลักการการพูดอย่างไรให้แต่ละมิติเป็นการพูดแบบจุดประกาย สามารถสร้าง Character Sparky Personality ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของตนเองได้
About the Author
ดร. ณิชานาฏ บรรจงจิตร
วิทยากรประจำสถาบัน KCT Academy และ อดีตที่ปรึกษาหลักสูตรการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้อำนวยการสำนักงานโฆษกคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ ผู้ดำเนินรายการวิทยุ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย