โตขึ้นอยากเป็นอะไร?
เป็นคำถามที่ผู้ใหญ่มักถามเด็กๆ เสมอว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร และคำตอบยอดฮิตของเด็กหลายคนก็คือ อยากเป็นตำรวจ ทหาร หมอ พยาบาล ครู สำหรับคำตอบของผู้เขียนเอง เป็นอะไรก็ได้ที่ต้องได้แสดงออกอยู่เบื้องหน้า เพราะตอนเด็กเป็นคนช่างพูด ช่างคุย จนมีโอกาสได้ร้องรำทำเพลงและเป็นดรัมเมเยอร์ของโรงเรียน แต่เป็นคนเรียบร้อย ชอบเรียนหนังสือ
พอถึงวัยทำงาน (อายุ 18 ปี) ก็ได้เข้าทำงานในองค์กรภาครัฐแห่งหนึ่งที่ทำหน้าที่ทนายของแผ่นดิน ในตำแหน่งธุรการ และด้วยเป็นคนที่ชอบร้องเพลง พี่ๆ มักส่งออกไปให้ร้องเพลงอยู่เสมอ และเมื่อมีโอกาสได้จับไมค์ก็จะชอบพูดคุย ทักทายคนในงาน จนเป็นที่จดจำของหลายๆ คนในที่ทำงาน เมื่อมีงานที่องค์กรต้องร่วมกับสังคม เช่นการรับบริจาค งานบุญ ก็จะได้รับหน้าที่เป็นโฆษกเชิญชวนให้คนในองค์กรร่วมกิจกรรมด้วย จนได้เป็นพิธีกรงานกาชาด ที่สวนอัมพร คงเป็นเพราะผู้หลักผู้ใหญ่เห็นความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา แล้ววันนึงผู้เขียนก็ถูกจับปรับเปลี่ยนให้ไปทำงานในตำแหน่งหน้าที่การงานใหม่คือ “นักประชาสัมพันธ์”
และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของชีวิตในการทำงานสายอาชีพ PR หรือ Publicist Relation
ต้องยอมรับว่ามี challenge ใหม่เกิดขึ้นกับชีวิต มันท้าทายมากเลยทีเดียว (เพราะเรียนจบมาด้านบริหารธุรกิจ) ไม่มีความรู้ทางด้านนี้เลย แต่บอกกับตัวเองว่าความใฝ่ฝันที่อยากได้ อยากเป็นมันใกล้ตัวเข้ามาเรื่อยๆ แล้วนะ จึงมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้จากสิ่งที่รุ่นพี่ทำ งานแรกคือ งานแถลงข่าวคดีสำคัญต่อสื่อมวลชน ในวันนั้นมีสื่อมวลชนทุกแขนงมารวมกันมากหน้าหลายตาอยู่ที่ห้องแถลงข่าว ไม่ว่าจะเป็นสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ในสมัยนั้นสื่อออนไลน์ยังไม่มี ผู้เขียนก็ทำหน้าที่ต้อนรับได้อย่างไม่เคอะเขิน กลับรู้สึกสนุกเพราะสร้างความตื่นตาให้เป็นอย่างมาก พลันสายตาก็หันไปเห็น นักข่าวที่ทำหน้าที่รายงานข่าวในทีวี และได้เห็นผู้ประกาศที่อ่านข่าวในทีวีตัวจริง เธอช่างดูสวยสง่า เท่ บุคลิกดี ผู้เขียนยืนมองอย่างไม่ละสายตา ในใจก็มะโนไปว่า ถ้านั่นเป็นเราก็คงจะเท่ดีจังเลยนะ ยิ่งตอนที่เอา press release คือเอกสารข่าวที่เขียนเตรียมไว้แล้ว ไปส่งให้เธอถึงมือ ยิ่งตื่นเต้นเพราะได้พูดคุยด้วย เสียงเธอช่างเพราะรื่นหูมากๆ เลย จึง memory ทุกอย่างไว้เป็นภาพจำ งานต่อมาคือ งานผลิตรายการโทรทัศน์กึ่งละคร ชื่อรายการ กฎหมายชาวบ้าน ออกอากาศทาง ททบ.5 ซึ่งเป็นงานที่อยู่ในความทรงจำที่ดีมากๆ ของผู้เขียน เป็นงานที่ให้ประสบการณ์อย่างเยี่ยมยอดในชีวิต เพราะเป็นงานทางเทคนิคที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ มีกระบวนการผลิตที่ต้องใช้ความสามารถและความถนัดในการทำงานของแต่ละบุคคลเข้าด้วยกัน กว่าจะออกมาเป็นละครสั้น 1 เรื่อง ให้คนได้ดูเพียง 30 นาที แต่ต้องใช้เวลา เป็นวันๆ สำหรับขั้นตอนการผลิตและถ่ายทำ ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปยังพื้นที่ในจังหวัดต่าง ๆ ตาม location ที่เหมาะสมกับเนื้อเรื่องซึ่งทีมงานได้วางแผนเตรียมสถานที่ไว้ก่อนวันถ่ายทำล่วงหน้าแล้ว ผู้เขียนพยายามเรียนรู้งานทุกขั้นตอน ได้เห็น ได้รับรู้และมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม ลองทำทุกหน้าที่ แม้กระทั่งหน้าที่เสิร์ฟน้ำ ผู้กำกับ นักแสดง ช่างกล้อง ฯ ก็ไม่เคยเกี่ยง จนมีครั้งหนึ่ง นักแสดงตัวประกอบไม่มา ผู้กำกับเลยให้ผู้เขียนไปแสดงแทน แล้วเราก็ทำได้ (แต่หลาย take อยู่เหมือนกัน) จนต่อมาก็ได้รับบทเป็นตัวจริงและแสดงอีกหลายเรื่อง
แล้ววันหนึ่ง ก็ได้มีผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์หน้าใหม่เกิดขึ้น ทำหน้าที่ร่วมสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายเพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องคดีที่เกิดขึ้นจากละครโทรทัศน์ที่นำเสนอออกไป นั่นคืออีกหนึ่งโอกาสของผู้เขียนที่ได้ทำหน้าที่นี้ในงานขององค์กร และด้วยการที่ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์และการข่าวเห็นแววในตัว จึงส่งไปเข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตร “การจัดทำรายการ/ละครโทรทัศน์” กับผู้กำกับละครชื่อดังในขณะนั้นคือ อาจารย์ฉลวย ศรีรัตนา เป็นเวลา 1 เดือน ความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะตักตวงความรู้ให้ได้มากที่สุดจึงเกิดขึ้น และคงเป็นเพราะพอมีประสบการณ์การทำงานด้านนี้มาบ้าง ทำให้เรียนรู้ได้ค่อนข้างเร็วและสนุกกับมัน ได้เรียนรู้การเขียน script เลือก location เรียนรู้มุมกล้อง การแสดง การตัดต่องาน ทำไตเติ้ล ฯ ผู้เข้าอบรมถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อผลิตละครสั้นสะท้อนสังคมจากความรู้ที่ได้เรียนกันมา งานทุกขั้นตอนต้องร่วมมือกัน เพื่อนำเสนอผลงานต่ออาจารย์ในวันสุดท้ายของการอบรม
แต่ละกลุ่มได้นำเสนอผลงานของตัวเอง เสียงเฮ เสียงหัวเราะดังขึ้น คำติชมและคำแนะนำของอาจารย์ทำให้พวกเราได้รับรู้ถึงจุดเด่น จุดด้อยที่ต้องปรับปรุง จนกระทั่งถึงกลุ่มของผู้เขียน อาจารย์ก็ติชมเป็นเรื่องปกติแต่ประโยคสุดท้ายของอาจารย์สร้างเสียงฮือฮาให้บรรดาผู้เข้าอบรม “ให้นักแสดงผู้หญิงคนนี้ไปพบอาจารย์หลังพิธีรับใบประกาศฯ” ซึ่งผู้หญิงคนนั้นก็คือผู้เขียนเอง เมื่อถึงพิธีรับใบประกาศนียบัตร เสียงพิธีกรก็ขานชื่อของผู้เขียน พอเดินไปยืนอยู่ตรงหน้าอาจารย์ ท่านก็ยื่นใบประกาศฯ ส่งให้ในมือ มีเสียงแชะของชัตเตอร์กล้องดังขึ้น ทันใดนั้นเอง อาจารย์ก็ดึงใบประกาศฯ นั้น กลับไปแล้วหยิบปากกาในกระเป๋าเสื้อออกมาเขียน แล้วส่งใบประกาศฯ นั้นคืนมา เสียงฮือฮาเริ่มดังขึ้น พอเดินลงมาจากเวที เพื่อนๆ ก็เดินเข้ามารุมเพราะอยากรู้ว่าอาจารย์เขียนว่าอะไร “Born to be คุณเกิดมาเพื่อสิ่งนี้” พร้อมลายเซ็นต์ของอาจารย์ ขอบอกเลยนะอารมณ์ความรู้สึกในตอนนั้นเหมือนหน้าตัวเองมันบานเสียเหลือเกิน ความภูมิใจมาเต็มๆ หลังพิธีมอบใบประกาศฯ ผู้เขียนก็ไปพบตามที่อาจารย์สั่ง โดยมีเพื่อนหลายคนขอตามไปด้วย อาจเป็นเพราะสนใจหรืออยากรู้อยากเห็นก็ไม่รู้สินะ คำพูดของอาจารย์ฉลวย ศรีรัตนา ในวันนั้นยังอยู่ในความทรงจำของผู้เขียนอย่างไม่มีวันลืม อาจารย์บอกว่า ตลอดระยะเวลาการอบรมอาจารย์ได้ติดตามดูผู้เขียน เพราะเห็นแววว่าเป็นผู้ที่เหมาะจะทำงานอยู่ในวงการบันเทิง โดยท่านถามว่า “ตอนนี้ทำงานอะไร ลาออกจากงานแล้วมาทำงานกับอาจารย์ได้มั๊ย เพราะคุณคือคนที่ใช่” ในหัวใจมีแต่ความตื่นเต้นดีใจและมีคำตอบอยู่ในใจเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ตอบอะไรไปเพราะเป็นเรื่องที่สำคัญต่อชีวิต
ลองทายกันซิคะ! ว่าผู้เขียนจะตัดสินใจ ไปต่อ หรือ พอแค่นี้
ติดตามเรื่องราวของ ดร.ณิชานาฎ บรรจงจิตร ได้ในสัปดาห์ถัดไปที่ kctathailand.com
Related Course
Sparky Talk
หลักสูตรการพูดจุดประกาย เรียนรู้หลักการการพูดอย่างไรให้แต่ละมิติเป็นการพูดแบบจุดประกาย สามารถสร้าง Character Sparky Personality ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของตนเองได้
About the Author
ดร. ณิชานาฏ บรรจงจิตร
วิทยากรประจำสถาบัน KCT Academy และ อดีตที่ปรึกษาหลักสูตรการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้อำนวยการสำนักงานโฆษกคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ ผู้ดำเนินรายการวิทยุ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย