โปรยหัวแบบนี้ทุกคนคงเดาออกแล้วสินะว่า ชีวิตของนักประชาสัมพันธ์ในองค์กรภาครัฐของผู้เขียน ตัดสินใจอย่างไรกับชีวิตในวงการบันเทิง หรือที่หลายคนเรียก วงการมายา จากการเชิญชวนของผู้กำกับคนดังในอดีต (อาจารย์ฉลวย ศรีรัตนา) ด้วยหัวใจที่เรียกร้องและเป็นสิ่งที่ผู้เขียนใฝ่ฝันมาตลอดมากองอยู่ตรงหน้าแค่เพียงมือเอื้อมนิดเดียวมันก็ถึงฝั่งฝันแล้ว หลังการอบรมอาจารย์หมั่นเรียกให้ไปพบที่กองถ่ายละครอยู่เสมอเพื่อทดสอบความรู้ที่ได้เรียนมากับอยากให้เห็นและสัมผัสกับบรรยากาศของกองถ่ายละครจริงๆ กับทวงถามเรื่องการลาออกจากงานราชการ
แล้วชีวิตก็ต้องไปต่อกับเส้นทางที่ถูกเลือก
เหมือนสายฟ้าผ่าลงกลางหัวใจ “ไม่ให้ลาออกจากงานราชการเด็ดขาด” เสียงดังฟังชัดของแม่มันแน่นอยู่ในอกอย่างบอกไม่ถูก ด้วยครอบครัวของผู้เขียนทั้งพ่อแม่ พี่สาว และพี่ชายก็ทำงานราชการ ชีวิตก็เลยต้องไปต่อกับเส้นทางที่มีคนอื่นเป็นคนเลือกให้ (ขณะนั้นเป็นข้าราชการซี 4) ถ้าถามว่าเสียใจบ้างมั๊ย บอกเลยว่าก็เสียใจอยู่ประมาณนึง แต่ชีวิตก็แอบไปรับงานแสดงละครสั้นหรืองาน Spot โฆษณาขององค์กรต่างๆ อยู่บ่อยๆ แอบลางานหรือแอบไปวันหยุดบ้าง ยอมรับว่าได้ตังค์เยอะอยู่พอสมควร ซึ่งบางเดือนได้มากกว่าเงินเดือนราชการทั้งเดือนอีก แต่ผู้เขียนก็ยังเป็นลูกที่น่ารัก ตั้งใจทำงานไม่ขัดใจแม่ เพราะอย่างไรก็ตามผู้เขียนก็ยังอยู่ในวิชาชีพที่ตัวเองรัก ได้มีโอกาสใช้เสียงในการทำงาน ได้บันทึกเสียง ลงเสียงในห้องอัดสตูดิโอเพื่อใช้ในงานขององค์กร ต้องบอกว่าก็เป็นอีกงานที่มีเสน่ห์ไม่ใช่น้อย เพราะก่อนการลงเสียง เราต้องทำความเข้าใจเนื้อเรื่องก่อนจึงจะรู้ว่าต้องใช้โทนเสียงกับอารมณ์แบบไหนให้สอดคล้องกับเรื่องราว เสียงสูงเสียงต่ำหรือการใช้เสียงเดียว (monotone voice) ในบางช่วงบางจังหวะก็จำเป็นต้องนำออกมาใช้ การเลือกเสียงดนตรีประกอบ (sound effects) มาใช้ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความสัมพันธ์กันเพราะมันจะสามารถสร้างอารมณ์ให้ผู้ชม/ผู้ฟังคล้อยตามกับเรื่องราวได้อย่างสมจริง
จากประสบการณ์ในงานผลิตละครโทรทัศน์ ทำให้ผู้เขียนได้รับหน้าที่เสมือนผู้จัดละคร เนื่องจากผู้เขียนมักรับหน้าที่หานักแสดงทั้งคนในองค์กร และนักแสดงสมัครเล่นรวมถึงตัวประกอบที่มี character ตรงกับบท มีอยู่วันหนึ่ง ผู้เขียนเดินอยู่ในองค์กรสายตาหันไปเห็นวัยรุ่นคนนึงบุคลิกและหน้าตาดีกำลังเดินไปกดลิฟท์ จึงเดินไปทักและแนะนำตัว โดยขอเวลาคุยด้วยเพื่อจะได้เห็นตัวตนของเค้าว่ามี character ตรงกับบทที่จะให้แสดงหรือไม่ คำตอบในใจคือใช่เลย กับได้รู้ว่ากำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง จึงเอ่ยปากชวนให้มาเล่นละครซึ่งค่าตัวไม่มากนัก เค้าตอบว่าสนใจในทันที ด้วยความอยากได้ในตัวเค้า (เอามาเล่นละครนะ) ผู้เขียนไปนั่งอยู่หน้าห้องเรียนของน้องในมือก็ถือบทไปด้วย ถึงเวลาพักเบรก น้องตกใจมากถามว่ารู้ได้อย่างไรว่าเรียนอยู่ห้องนี้ ก็เลยบอกคนเป็นแมวมองไม่มีอะไรยากนักหรอก ด้วยรู้ชื่อรู้คณะที่เรียนอยู่ก็แค่ไปถามกับสำนักทะเบียนก็สามารถรู้แล้วว่าเรียนห้องไหน ก็เลยได้คุยทำความเข้าใจเรื่องบทว่าประมาณไหนและนัดวันถ่ายทำซึ่งต้องเดินทางไปพร้อมกับกองถ่าย ในกรณีนี้ทางองค์กรต้องทำหนังสือถึงผู้ปกครองและมหาวิทยาลัยเพื่อรับรองการไปร่วมงานกับหน่ายงานภาครัฐ ในกองถ่ายผู้เขียนมีหน้าที่จัดหาอาหาร เครื่องดื่ม ของว่างให้ทุกคนในกองถ่าย ต้องนัดหมาย จัดคิวนักแสดง และปรึกษากับทีมงานเมื่อเกิดปัญหาเฉพาะหน้า กระทั่งกลับมาจากกองถ่าย ก็ต้องเข้าไปดูการตัดต่อร่วมกันกับทีมงาน ต้องนำแต่ละฉาก (scene) มาร้อยเรียงให้การดำเนินเรื่องเป็นไปตามบทที่เขียนไว้ ซึ่งบางครั้งก็อาจมีการปรับเปลี่ยนสลับบาง scene ใหม่ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
ชีวิตการทำงานในสายอาชีพนักบริหารงานประชาสัมพันธ์ (เริ่มขยับตำแหน่งสูงขึ้นมาอีกนิด) ไม่สามารถหยุดยั้งความอยากได้ อยากเป็นที่มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่อีก (หรืออาจเรียกได้ว่าความทะเยอทะยานก็ได้นะ) ผู้เขียนเห็นว่าสายอาชีพนี้ทำให้ตัวเองไปต่อได้อยู่นะ จึงตัดสินใจศึกษาหาความรู้ในเชิงทฤษฎีที่สามารถยืนยันและ guarantee อาชีพนี้ให้สังคมยอมรับในตัวเราจริงๆ คือการเรียนต่อจนได้ปริญญานิเทศศาสตร์ธุรกิจมหาบัณฑิต เป็นช่วงของการเรียนหนังสือที่สนุกที่สุด เพราะเอาประสบการณ์จากการทำงานไปใช้ในการเรียน ได้เกรด A หลายวิชา แต่วิชาที่ทำให้ผู้เขียนภูมิใจมากที่สุด คือวิชา “การพูดเพื่อการสื่อสาร” เพราะเป็นสิ่งที่มุ่งหวังว่าในอนาคตจะเอาดีทางด้านนี้และจะทำให้ประสบผลสำเร็จให้จงได้
วิธีการพูดในทัศนะของผู้เขียน มันคือศาสตร์อย่างหนึ่งซึ่งเป็นทักษะที่แสดงถึงตัวตนของผู้พูด สิ่งเหล่านี้ต้องมีการฝึกฝนและเรียนรู้ คุณเคยมีความรู้สึกแบบนี้บ้างไหมว่า บางคนเมื่อเราเห็นก็ดูปกติธรรมดาทั่วไป แต่พอเค้าได้ขึ้นเวทีจับไมค์พูด เพียงไม่กี่ประโยคเราก็สามารถบอกได้เลยว่าคนนี้ทำไมช่างมีเสน่ห์เสียเหลือเกิน รู้สึกว่าเค้าหล่อหรือสวยขึ้นมาทันทีทันใด ด้วยมาดหรือบุคลิกประกอบน้ำเสียงที่มีจังหวะกับอารมณ์และแววตาในการสื่อความหมาย มันชวนให้เราอยากติดตามฟังให้จบ การก้าวเดินอย่างมี movement ขณะที่พูดก็เป็นอีกสไตล์ที่คนมีความมั่นใจจัดเจนเวทีเท่านั้นจึงจะทำได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องเรียนรู้อย่างมีหลักการ แต่หากใครที่มีพื้นฐานในทักษะการพูดอยู่ก่อนแล้วก็จะยิ่งเรียนรู้ได้เร็วและง่ายขึ้น สิ่งสำคัญต้องค้นหาสไตล์ที่เป็นตัวตนของตัวเองให้เจอ ไม่ต้องลอกเลียนแบบใครเพียงแต่จดจำวิธีการพูดไว้เป็นแนวทางแค่นั้นก็พอ นั่นเพราะไม่มีใครที่สามารถเป็นเหมือนคนอื่นได้ กับให้คิดเสมอว่าแล้วก็ไม่มีใครสามารถมาเหมือนกับเราได้ ดังนั้น การสร้างเอกลักษณ์ของตัวเราจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งของนักพูดที่ดี
แต่ก่อนที่จะเป็นนักพูดที่ดีมีความมั่นใจในเรื่องที่พูด หลายคนที่เป็นถึงผู้บริหารหรือหัวหน้างานที่ยากจะหลีกเลี่ยงการถูกเชิญให้ขึ้นไปพูดบนเวที จำเป็นต้องมีคุณสมบัตินี้แต่เกิดความรู้สึกประหม่าทุกครั้ง หากอยากลดความประหม่าในการพูดต่อหน้าผู้คนเป็นจำนวนมาก ผู้เขียนมีวิธีการง่ายๆ ในการฝึกการพูด ติดตามได้ในบทความต่อไปนะคะ
มาเรียนรู้ 3 เทคนิค ลดความประหม่าในการพูดบนเวทีกันค่ะ
ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางที่จะสร้างความเป็นตัวตนของคุณให้กลายเป็นนักพูดที่น่าประทับใจและจดจำใน Character ที่พิเศษนี้ จงค้นหาตัวเองให้เจอ แล้วสร้างสไตล์การพูดของคุณ ในแบบ “Sparky Talk”
สนใจเรียนเทคนิคการพูดแบบ Sparky Talk พูดจุดประกายในแบบของคุณ กับ ดร.ณิชานาฎ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่:
- โทร: 085-9391593
- อีเมล: nartiya@kctathailand.com
- แชท: m.me/kcttraining
Related Course
Sparky Talk
หลักสูตรการพูดจุดประกาย เรียนรู้หลักการการพูดอย่างไรให้แต่ละมิติเป็นการพูดแบบจุดประกาย สามารถสร้าง Character Sparky Personality ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของตนเองได้
About the Author
ดร. ณิชานาฏ บรรจงจิตร
วิทยากรประจำสถาบัน KCT Academy และ อดีตที่ปรึกษาหลักสูตรการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้อำนวยการสำนักงานโฆษกคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ ผู้ดำเนินรายการวิทยุ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย