fbpx

การพูดแบบ โฆษก หรือ พิธีกร

การพูดแบบ โฆษก หรือ พิธีกร

คุณอยากให้ใครๆ เรียกคุณว่า “โฆษก” หรือ “พิธีกร”  

ขอถามใหม่นะ! คุณอยากเป็น “พิธีกร” หรือ “โฆษก”

           เริ่มสับสนกันแล้วใช่มั๊ยกับการที่ถูกเรียกว่า “โฆษก” บ้างล่ะ “พิธีกร” บ้างล่ะ ตกลงคนที่ยืนถือไมค์ในงานใดหรือกิจกรรมใด แล้วพูดนั่นพูดนี่อยู่ต่อหน้าสาธารณชนคนเยอะๆ เค้าควรต้องถูกเรียกว่าอะไรกันแน่ จึงจะถูกต้อง ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ถูกเรียกทั้งสองคำนี้ ซึ่งนั่นก็แล้วแต่ว่าใครอยากจะเรียกเราหรือกำหนดให้เราเป็นอะไร เมื่อเวลาออกไปทำหน้าที่พูดอยู่หน้า Prodium หรือพูดอยู่บนเวที คนส่วนใหญ่เลยแยกไม่ออกว่า พูดแบบไหนเป็นการพูดในฐานะเป็น “โฆษก” พูดแบบไหนเป็นการพูดในฐานะเป็น “พิธีกร” ถ้าอย่างนั้นเรามาหาคำตอบและแยกแยะให้ออก จะได้ไม่ต้องสับสนกันอีก แล้วก็เรียกให้ถูกต้องต่อจากนี้ไป

“พิธีกร” ภาษาอังกฤษใช้ Master of Ceremony : MC

             “พิธีกร” ไม่ใช่คนที่ ” มือถือไมค์ ไฟส่องหน้า ” หรือใครๆ ก็เป็นได้ หากแต่ต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญ ความเข้าใจ และปฏิภาณไหวพริบหลายๆ อย่างมาประกอบกันเพื่อทำให้งานดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทางของงาน พิธีกร ไม่ใช่ผู้ประกาศ พิธีกรไม่ใช่ตัวตลก พิธีกรไม่ใช่ผู้โฆษณา พิธีกรไม่ใช่ผู้ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ และพิธีกรไม่ใช่ผู้พูดสลับฉากบนเวที แต่พิธีกรเป็นที่รวมของบทบาทหน้าที่อย่างน้อย 4 ประการ คือ
                   •  เป็นเจ้าของเวที (Stage Owner)
                   •  เป็นผู้ดำเนินรายการ (Program Monitor)
                   •  เป็นผู้แก้สถานการณ์เฉพาะหน้า (Situation Controller)
                   •  เป็นผู้ประสานงานบันเทิงและสังคม (Social Linkage)

สรุปว่า พิธีกร หมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมและดำเนินการในงานพิธีต่างๆ โดยหน้าที่หลักคือ กำกับ/นำ/อำนวยการ ให้กิจกรรม รายการต่างๆ  เป็นไปให้แล้วเสร็จ เรียบร้อยตามวัตถุประสงค์และกำหนดการที่วางไว้ ตั้งแต่เริ่มต้นกล่าวต้อนรับ จนกระทั่งกล่าวขอบคุณและปิดงาน

หากใครอยากรู้อย่างละเอียดเกี่ยวกับหน้าที่ของพิธีกร ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งปิดงานผู้เขียนจัดให้ค่ะ.                  

1.เป็นผู้ให้ข้อมูลแก่ผู้ฟัง / ผู้ชม / ผู้เข้าร่วมพิธี ดังนี้

  1. แจ้งกำหนดการ
                 2. แจ้งรายละเอียดของรายการ
                 3. แนะนำผู้พูด ผู้แสดง
                 4. ผู้ดำเนินการอภิปรายและอื่น ๆ
    2. เป็นผู้เริ่มกิจกรรม / งาน / พิธี / รายการ เช่น
                 1. กล่าวทักทาย ต้อนรับเชิญเข้าสู่งาน
                 2. เชิญเข้าสู่พิธี ดำเนินรายการต่าง ๆ แล้วแต่กิจกรรม
                 2. เชิญ เปิดงาน – ปิดงาน
    3. เป็นผู้เชื่อมโยงกิจกรรม / งาน / พิธี / รายการต่าง ๆ เช่น
                 1. กล่าวเชื่อมโยงเหตุการณ์ตามลำดับ
                 2. แจ้งให้ทราบเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการ
                 3. แจ้งขอความร่วมมือ
                 4. กล่าวเชื่อมโยงรายการให้ชวนติดตาม
                 5. เป็นผู้ส่งเสริมจุดเด่นให้งานหรือกิจกรรมและบุคคลสำคัญในงานพิธี / รายการโดยพิธีกรจะต้องเป็นผู้ทำหน้าที่ในวาระที่เหมาะสม เช่น
                 6. กล่าวยกย่องสรรเสริญ ชื่นชมบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องในพิธี
                 7. กล่าวถึงจุดเด่นของงานพิธีนั้น ๆ
                 8. กล่าวแจ้งผลรางวัลและการมอบรางวัล
    4. เป็นผู้ที่สร้างสีสัน บรรยากาศของงาน / พิธี / รายการ เช่น
                 1. ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมเป็นระยะ
                 2. มีมุขขำขึ้นเป็นระยะๆ 
    5. เป็นผู้เสริมสร้างความสมานฉันท์ในงาน / กลุ่มผู้ร่วมงาน เช่น
                 1. กล่าวละลายพฤติกรรม
                 2. กล่าวจูงใจให้รักสามัคคี
    6. เป็นผู้เติมช่องว่างและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในงานพิธีต่าง ๆ เช่น
                 1. กล่าวชี้แจงกรณีบุคคลสำคัญไม่สามารถมาช่วยงานพิธีต่าง ๆ ได้
                 2. กล่าวทำความเข้าใจกรณีต้องเปลี่ยนแปลงกำหนดการ 

สำหรับคนที่ทำหน้าที่เป็นพิธีกรสิ่งที่ต้องคำนึงถึงและพึงระมัดระวังคือ                   

  • ต้องดูดีมีบุคลิก
  • ต้องรักษาเวลาอย่างเคร่งครัด
  • ต้องแสดงออกอย่างสุภาพและให้เกียรติ ร่าเริงแจ่มใส ให้ความเป็นกันเอง
  • ต้องมีการประสานงานด้านข้อมูล และพร้อมเผชิญปัญหาโดยไม่หงุดหงิด
  • ต้องใช้ภาษาให้ถูกต้องชัดเจนให้ชวนฟัง น่าติดตาม
  • ต้องเสริมจุดเด่นของคนอื่นไม่ใช่ของตนเอง
  • สร้างความประทับใจ ด้านสุภาษิต หรือคำคม จึงต้องเป็นคนที่ชอบสะสม “คลังคำ”

ดังนั้น พิธีกร จึงต้องมีความรู้พื้นฐาน 4 อย่าง คือ

  • รู้ลำดับรายการ
  • รู้รายละเอียดของแต่ละรายการ
  • รู้จักผู้เกี่ยวข้องในแต่ละรายการ ( ใครจะมารับช่วงเวทีในลำดับต่อไป )

รู้กาลเทศะ ( ไม่เล่นหรือล้อเลียนจนเกินขอบเขต ต้องมีความพอดี )
เรามาดูกันว่า โอกาสแบบใดบ้าง ที่จำเป็นต้องมีคนทำหน้าที่เป็นพิธีกร ได้แก่

  • ผู้ดำเนินรายการบนเวทีในงานแสดงต่างๆ เช่น ดนตรี ละคร โชว์ ฯลฯ
  • เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย โต้วาที ยอวาที แซววาที
  • แนะนำองค์ปาฐก ผู้บรรยายรับเชิญ
  • จัดรายการทางวิทยุกระจายเสียง
  • จัดรายการทางโทรทัศน์
  • ดำเนินรายการในงานพระราชพิธี งานพิธี และงานมงคลต่างๆ 

แต่การเป็นพิธีกรที่ดี ก็ต้องอาศัยการเตรียมการและความพร้อมทั้งต่อตัวเองและสถานที่เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เมื่อถึงเวลาตามกำหนดการของงาน ทุกอย่าง perfect ผู้เขียนจึงมีเทคนิค 7 ประการในการเป็นพิธีกรมาบอกกันค่ะ

  • ต้องมีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ ( พักผ่อนเพียงพอ )
  • ต้องมาถึงบริเวณงานก่อนเวลา ( อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง )
  • สำรวจความพร้อมของเวที แสง สี และเสียง ( ทดสอบจนแน่ใจ )
  • เปิดรายการด้วยความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า
  • ดึงดูดความสนใจมาสู่เวทีได้ตลอดเวลา ( ทุกครั้งที่พูด ) อย่าทิ้งเวที
  • แก้ปัญหาหรือควบคุมสถานการณ์เฉพาะหน้าได้อย่างดี
  • ดำเนินรายการจนจบ หรือบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

ฉะนั้น ผู้เขียนจึงขอสรุปภาพของคนที่เป็นพิธีกรที่ดี มีความสามารถ ต้องฝึกฝนเรียนรู้ในหลักการ และสร้างเสน่ห์หรือกลยุทธ์ในการพูดให้ตัวเองดูน่าสนใจ ดังนี้

  • เตรียมพร้อม
  • ซ้อมดี
  • ท่าทีสง่า
  • หน้าตาสุขุม
  • ทักที่ประชุมอย่าวกวน
  • เริ่มต้นให้โน้มน้าว
  • เรื่องราวให้กระชับ
  • จับตาที่คนฟัง
  • เสียงดังให้พอดี
  • อย่าให้มีเอ้ออ้า
  • ไม่ประหม่าสายตามอง
  • ยิ้มย่องผ่องใสตลอดเวลา

“โฆษก” ภาษาอังกฤษใช้ Spokesman/Spokeswoman

            โฆษก มีหน้าที่ให้ข่าว แถลงข่าว ให้สัมภาษณ์ ชี้แจงข้อเท็จจริง ทั้งข่าวที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานประจำหรือภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ข่าวสารในลักษณะวิชาการซึ่งสมควรเผยแพร่แก่ประชาชน ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรนั้นๆ ต่อสื่อมวลชน รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายและผลงานองค์กร เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สาธารณชน ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยมีคณะทำงานโฆษกและประชาสัมพันธ์ ช่วยทำหน้าที่สนับสนุนในการรวบรวมข้อมูลข่าวสารและเอกสารหลักฐาน จัดทำแผนประชาสัมพันธ์ขององค์กร จัดแถลงข่าว และประสานงานสื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก ตามที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้ได้รับความสนับสนุนร่วมมือ อันจะทำให้กิจการงานนั้นๆ ประสบผลสำเร็จ ได้ตามวัตถุประสงค์ โดยต้องมีวิธีการที่แตกต่างในแต่ละกิจกรรม เช่น
                 •  การบอกกล่าว
                 •  การชี้แจง   
                 •  การเผยแพร่
                 •  แก้ความเข้าใจผิด
                 •  การสำรวจประชามติ

            เรามักได้ยินหรือรู้จักโฆษกของพรรคการเมืองในการปราศรัยหาเสียง หรือในงานแถลงข่าว ที่ต้องให้ข่าวต่อสื่อมวลชนในฐานะ “โฆษกพรรค” ที่ต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนออกมาพูดบอกกล่าวสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนในนโยบายพรรค หลักการ แนวคิด วิธีการทำงาน หรืออาจเป็นการชี้แจงข้อเท็จจริง / แก้ข่าวที่อาจเกิดความเข้าใจผิดต่อประชาชนผ่านสื่อมวลชนอยู่เสมอ เป็นต้น

           ดังนั้น เมื่อมาถึงตรงนี้แล้ว ทุกคนคงจะแยกแยะออกแล้วนะคะว่า “พิธีกร” กับ “โฆษก”  มีความแตกต่างกันในบทบาทของการทำหน้าที่อย่างไรบ้าง

           แต่อย่างไรก็ตาม แม้บางงาน บางกิจกรรม “พิธีกรหรือโฆษก” ก็อาจจะเป็นบุคคลคนเดียวกันในกิจกรรมนั้นๆ ก็ได้ เพราะต้องทำหน้าที่สร้างความเข้าใจในข้อมูล ต่อเหตุการณ์ต่างๆ ต่อกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ข้อเท็จจริง ให้ทัศนะในโอกาสที่จะต้องปฏิบัติในแต่ละสถานการณ์ ในแต่ละกิจกรรม แต่ว่าพิธีกร จะถูกกล่าวถึงมากในกรณีที่เป็นทางการ ส่วนโฆษกจะเป็นคำที่เรียกใช้ในส่วนที่ก่อนถึงเวลาดำเนินกิจกรรมต่างๆ หรือบางครั้งในท้องถิ่นชนบทจะเรียกรวมกันเช่น
“ โฆษกพิธีกร ดำเนินการ ต่อไป ” ไม่ว่าจะเรียกว่าพิธีกรหรือโฆษกในกิจกรรมนั้น ๆ จะต้องเป็นการพูดในที่ชุมชน นั่นคือการพูดต่อหน้าคนเป็นจำนวนมากทุกครั้ง เป็นการพูดในที่ชุมชน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ถ้าหากพูดผิดก็จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อตนเองและองค์กร และถ้าหากทำดีพูดดีก็จะมีสง่าราศีแก่ตนเองเช่นกัน ดังสุภาษิต ของสุนทรภู่ ที่มีมาแต่โบราณ แต่ก็ยังใช้ได้ดีจนถึงปัจจุบัน ที่ว่า
ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต แม้พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะชอบผิดอยู่ที่พูดให้ถูกทาง ”

            ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่พิธีกร หรือโฆษก ผู้ประกาศ พิธีกรหรือโฆษก ก็จะต้องมีการเตรียมตัวในการทำหน้าที่สำคัญ ดังนี้

  1. ศึกษาข้อมูล / วิเคราะห์สถานการณ์ ผู้นำ ผู้ชม โอกาส วัตถุประสงค์ของงานพิธี รายการที่กำหนดไว้ เพื่อทราบความมุ่งหมายของการทำหน้าที่
  2. เตรียมเนื้อหาและคำพูด เริ่มต้นอย่างไร ? มุขตลก ขำขัน แทรกอย่างไร คำคม ลูกเล่น จุดเด่นที่ควรกล่าวถึง ต้องเตรียมค้นคว้าศึกษาจากศูนย์ข้อมูลมาให้พร้อม
  3. ตรวจสอบความเหมาะสม ของบทความที่เตรียมมาว่าเหมาะสมกับเวลาหรือไม่
  4. ต้องมีการฝึกซ้อมไม่ว่าจะซ้อมหลอกหรือซ้อมจริง ต้องมีการฝึกซ้อม
  5. ศึกษาสถานที่จัดงานหรือพิธีที่กำหนดไว้ล่วงหน้า
  6. เตรียมเสื้อผ้าและชุดการแต่งกาย อย่างเหมาะสมกับกิจกรรม พร้อมดูแลตั้งแต่ หัวจรดเท้า 

ท้ายที่สุดนี้ ขอฝากไว้สำหรับคนที่จะทำหน้าที่พิธีกร หรือโฆษก ด้วยประโยคนี้นะคะ
               “ทำจิตให้แจ่มใส ไปถึงก่อนเวลา อุ่นเครื่องแก้ประหม่า ทำหน้าที่สุดฝีมือ เลื่องลือด้วยผลงาน”

About the Author

ดร. ณิชานาฏ บรรจงจิตร

ดร. ณิชานาฏ บรรจงจิตร

วิทยากรประจำสถาบัน KCT Academy และ อดีตที่ปรึกษาหลักสูตรการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้อำนวยการสำนักงานโฆษกคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ ผู้ดำเนินรายการวิทยุ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

Ready to join our knowledge castle?

Find the right program for your organization and achieve your goals today

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save